วีดีโอ
วิวัฒนาการขององค์กรสาธารณประโยชน์ไทยในอดีตที่ผ่านมา
ช่วงเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา องค์กรสาธารณประโยชน์ได้ผ่านขั้นตอนของวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ เริ่มจากการเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์ (พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๕๑๖) มาสู่การเป็นองค์กรที่ค้นหาความหมายและคำตอบด้านพัฒนาสังคม (พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๓๕) มาสู่การทำงานช่วยเหลือกันแบบเป็นเครือข่าย (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๐) และปัจจุบันได้พัฒนาสู่รูปแบบการผลักดันให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมกับอำนาจรัฐในทุกขั้นตอน (พ.ศ. ๒๕๔๐-ปัจจุบัน)
หลักการและเหตุผล
จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบันระบุว่า องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับการรับรองให้ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ ๗ ด้าน ภายใต้พลวัตรของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษานั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ องค์กร ทำให้รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง คณะกรรมการจัดตั้งสภาองค์กรสาธารณประโยชน์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของความเจริญก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ที่สังคมจะได้รับจากการจัดสวัสดิการสังคมผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ดังที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และมาตรฐานตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติกำหนด จึงเห็นควรจัดตั้ง “สภาองค์กรสาธารณประโยชน์แห่งประเทศไทย” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสภาเชิงนโยบาย
คำนิยามตามข้อบังคับนี้
“องค์กรสาธารณประโยชน์” หมายความว่า องค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการรับรองให้ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และการให้บริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ ที่มีมาตรฐานตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยไม่แสวงหากำไรหรือนำผลประโยชน์มาแบ่งกัน
“สภา” หมายความว่า ที่ประชุมขององค์กรสาธารณประโยชน์ตามข้อบังคับนี้ ในที่นี้ให้หมายความถึงสภาองค์กรสาธารณประโยชน์แห่งประเทศไทย
รูปแบบการทำงานของสภา
เป็นองค์กรตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์สมาชิก ที่มีการประชุมหารือกันเพื่อดำเนินการหรือลงมติใด ๆ เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การจัดตั้งสภา