เกี่ยวกับเรา

หลักการและแนวติดในการก่อตั้งองค์กร

        สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์เนื่องในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๑ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวาระที่พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เรื่องการจัดตั้ง “ธนาคารสมอง” หรือ “เบรนแบงก์” เพื่อรวบรวมทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่เกษียณอายุราชการหรือเกษียณอายุงาน (โปรดเขียนให้เต็ม เพราะถ้า “เกษียณอายุ” เฉยๆ น่าจะหมายถึงคนที่หมดอายุแล้ว ด้วยว่า “เกษียณ” แปลว่า สิ้นไป ฟังดูแล้วจิตใจมันห่อเหี่ยวพิกล...) เพื่อให้อดีตข้าราชการที่ยังอยู่ในช่วงมีพลังทำงานได้ นำความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง  สรุปว่า คนที่เกษียณอายุแล้วมีความเป็นนักวิชาการที่เก่งมาก น่าจะรวบรวมมันสมองที่เก่งให้มารวมกัน ช่วยพิจารณาปัญหาต่างๆ ของประเทศ ดูแลช่วยเหลือบ้านเมือง โดยจัดทำเป็นธนาคารสมอง (Brain Bank) ซึ่งอาสามาช่วยงานแผ่นดิน และปกป้องชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น 

 

        แนวคิดเรื่องคลังสมอง มีความสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ให้ความเคารพนับถือต่อผู้อาวุโส และเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการถ่ายทอดปัญญา ความรู้ และประสบการณ์อันดีงามจากผู้อาวุโสสู่คนรุ่นใหม่ และส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแบบอย่างและเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรในอนาคตที่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นอีกด้วย

 

        ดังนั้น เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว คณะผู้ก่อตั้ง ๕ คน ซึ่งมาจากคณะทำงานสภาองค์กรผู้นำชุมชนเขตยานนาวา จึงเห็นตรงกันว่าควรจัดตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่รวบรวมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและจิตอาสา โดยไม่ต้องรอให้เกษียณอายุการทำงาน หากมีจิตอาสาและอยากจะถ่ายทอดความรู้ ก็ควรจะเชิญมาทำประโยชน์ร่วมกัน  จึงประชุมร่วมกันจัดตั้ง “สถาบันภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาสังคมเขตยานนาวา” ขึ้นในขณะนั้น และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม” และไม่จำกัดการทำงานเฉพาะในพื้นที่เขตยานนาวา  แต่สามารถทำงานเพื่อรับใช้สังคมได้ทั่วประเทศไทย

 

  ความสำเร็จและคุณค่าของสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคมไม่ได้อยู่ที่ สถาบันฯ จะต้องมีสำนักงานใหญ่โต มีกรรมการที่มีฐานะทางการเงินร่ำรวย มีพนักงานลูกจ้างจำนวนมากมาย มีเครื่องมืออุปกรณ์เพรียบพร้อมทุกสิ่ง หรือต้องมีกองทุนหรือเงินทุนกมากมาย เราไม่เคยให้ความสำคัญและคุณค่ากับเรื่องเหล่านี้ เพราะ.... เราเชื่อว่าสิ่งนั้น "ไม่ใช่ความสำเร็จและคุณค่า" ของการก่อตั้งองค์กรแห่งนี้ แต่ความสำเร็จและคุณค่าของการก่อตั้งองค์กรแห่งนี้ คือ "การที่เราได้สร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้คู่คุณธรรมออกทำงานพัฒนาสังคม การสร้างนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามวิถีพอเพียง และการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และประเทศชาติไปในทางที่ดีขึ้น" เป็นสำคัญ ๓ ประการนี้ จึงจะถือเป็น ความสำเร็จและคุณค่าของสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม

 

ประวัติความเป็นมาขององค์กร

        สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม จุดประกายประมาณปลายเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ โดยความเห็นร่วมกันของคณะผู้ก่อตั้ง จำนวน ๕ ท่าน  และคณะผู้ก่อตั้งได้มอบหมายให้เครือข่ายสื่อภาคประชาชนยานนาวา ส่งหนังสือเรียนเชิญคณะบุคคลที่พิจารณาเห็นว่าเป็นผู้นำองค์กรชุมชน และข้าราชการ ที่เคยให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ ลานใต้อาคารริมน้ำ โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ด้านสถานที่จัดประชุมจาก นายเทพฤทธิ์ ศรีปัญญา ผอ.โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาในขณะนั้น โดยที่ประชุมได้มีมติร่วมกันก่อตั้งสถาบันโดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า “สถาบันภูมิปัญญาเพื่อสังคมพัฒนาสังคมเขตยานนาวา”   และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้น จำนวน ๑๑ ท่าน  โดยมี นายวิกรม มีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ กศน.เขตยานนาวาในขณะนั้น (ปัจจุบัน นายฐปนรรฆ์ ชุติชัยวิวัฒน์กุล ผอ.กศน.เขตจตุจักร) ทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการสถาบันฯ  มีภารกิจในการพิจารณาจัดทำร่างระเบียบ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ การรับสมัครสมาชิกและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยมีการเรียนเชิญหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้านและบุคคลผู้มีเกียรติในพื้นที่ เข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ จัดมีการฝึกอบรมสมาชิกใหม่ และจัดให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการดำเนินงานชุดแรกต่อไป 

 

        วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ประชุมคณะกรรมการยกร่าง  ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานชุดแรก จำนวน ๑๔ ท่าน โดยมี พระทูล สนฺตจิตฺโต เป็นประธานกรรมการดำเนินงานชุดแรก ทำหน้าที่ในการทบทวนและพิจารณาระเบียบสถาบัน การกำหนดนโยบาย การกำหนดโครงสร้างการบริหารงาน และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดรูปแบบและวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ตลอดจนปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

 

        วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะกรรมการดำเนินงานชุดแรก ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ชุดที่สอง จำนวน ๑๑ ท่าน โดยมี นายอุปถัมภ์  พรรณสังข์ เป็นประธานกรรมการดำเนินงานชุดที่สอง ทำหน้าที่ในการทบทวน พิจารณาและปรับแก้ข้อบังคับสถาบัน รวมทั้งจัดทำระเบียบประกอบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง กำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งคณะกรรมการ และจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการเป็นวาระแรก ตลอดจนปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

 

        คณะกรรมการดำเนินงานชุดที่สอง มีมติเปลี่ยนแปลงชื่อองค์กรจาก “สถาบันภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาสังคมเขตยานนาวา” เปลี่ยนใหม่เป็น “สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม”  และประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารตามข้อบังคับขึ้นเป็นครั้งแรก

 

        วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะกรรมการดำเนินงานชุดที่สอง จัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกวิสามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม  โดยที่ประชุมมีมติคัดเลือกสมาชิกดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร จำนวน ๑๓ คน โดยมี นายมังกร  ฉันทวานิช เป็นประธานกรรมการบริหาร สมัยแรก  ต่อมา นายมังกร ฉันทวานิช ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ ได้กรุณาให้ความอนุเคราะห์ใช้สถานที่ ห้อง ๑๐๔ อาคารศรีรัชดา ถนนพระราม ๓ ซอย ๓๙ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งสำนักงานสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม และได้จัดพิธีทำบุญเปิดสำนักงานฯ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ 

 

        วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ นายมังกร ฉันทวานิช ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม คณะกรรมการจึงได้จัดให้มีการประชุม เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและพิจารณาคัดเลือกสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งแทนกรรมการที่ว่างลงตามข้อบังคับสถาบันฯ  และที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จำนวน ๑๐ ท่าน โดยมี นายสมยศ  วัฒนเวช  เป็นประธานกรรมการบริหาร คนที่ ๒

 

        วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม ได้รับการรับรองเป็น “องค์กรสาธารณประโยชน์” ลำดับที่ ๑๗๐๓  ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยย้ายที่ตั้งสำนักงานมายังเลขที่ ๖๒๙/๒๕๓ ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

       

        วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการบริหารได้หมดวาระลงและจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ผลการเลือกตั้งได้คณะกรรมการบริหาร จำนวน ๑๑ ท่าน  โดยมี นางสาวกันตา ชังคะนาวิน เป็นประธานกรรมการบริหาร สมัยที่ ๒ มีวาระการบริหารงาน ๒ ปี และมีการคัดเลือกเลขาธิการใหม่ นายลิขิต ลิ้มรสรวย ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ  

 

        วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓  คณะกรรมการมีมติเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เลขาธิการสถาบันฯ เป็น ผู้อำนวยการสถาบันฯ และเห็นชอบข้อบังคับสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่มายังอาคารเลขที่ ๔๒๐ หมู่บ้านเซ็นหลุยส์เซ็นเตอร์ ถ.จันทน์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ

 

        วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔   คณะกรรมการบริหาร สมัยที่ ๒   ได้หมดวาระลงตามข้อบังคับ จึงจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่  และผลการเลือกตั้งได้คณะกรรมการบริหาร ๑๕ ท่าน โดยมี นายอุปถัมภ์ พรรณสังข์  เป็นประธานกรรมการบริหาร สมัยที่ ๓ มีวาระบริหาร ๔ ปี และมีการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหม่ ผลการเลือกตั้ง นายลิขิต ลิ้มรสรวย ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี 

 

        วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖  คณะกรรมการฯ มีมติเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่  ไปยังบ้านเลขที่ ๖๐ (๑๖/๑๓๖) ซอยเอกชัย ๕๘ ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร เนื่องจากสำนักงานเดิมหมดสัญญาเช่าใช้อาคารสถานที่ 

 

        วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖  สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม ได้รับการรับรองเป็น “เครือข่ายวัฒนธรรมระดับกรุงเทพมหานคร” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ลำดับที่ กรุงเทพมหานคร ๑/๒๕๔๖ แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓