โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา


ประวัติโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา

ประเภทข่าว โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา โพสต์เมื่อ 2019-11-21

รายละเอียด

"ประวัติโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา"

โรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยสถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และได้เรียนเชิญสำนักงานเขตยานนาวา กรมกิจการผู้สูงอายุ กศน.เขตยานนาวา วัดด่านพระราม ๓ สโมสรโรตารีกรุงเทพรัตนโกสินทร์ และสโมสรโรตารียานนาวา ร่วมดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในรูปแบบของ “โรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา” ด้วยความอนุเคราะห์ของ หลวงพ่อพระครูสถิตบุญวัฒน์ ดร. เจ้าอาวาสวัดด่าน พระราม ๓ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ

การดำเนินงานของโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่อาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากภาคประชาสังคม โดยจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษา นำเงินที่ได้รับมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียน ในการจัดการเรียนการสอนซึ่งดำเนินการทุกวันศุกร์ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ณ ศาลาสี่มุมบ้าน วัดด่าน พระราม ๓ และ ห้องประชุมสำนักงานเขตยานนาวา

เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา ณ อาคารฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตยานนาวา โรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวาจัดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ได้จัดรายวิชาตามหลักสูตร กำหนดระยะเวลาเรียน ประเมินผลการเรียน และจัดพิธีมอบประกาศนียบัตร “ปริญญาชีวิต บัณฑิตปัจฉิมวัย” การบริหารงานดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการบริหารโรงเรียน และคณะที่ปรึกษาโรงเรียน มีนายลิขิต ลิ้มรสรวย ทำหน้าที่ผู้จัดการโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา

หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวาใช้หลักสูตร “๓๘๕”  

๓ ตัวแรก คือ ๓ กลุ่มวิชา ได้แก่ วิชาชีวิต ๕๐%  วิชาการ ๓๐% และวิชาชีพ ๒๐% 

๘ ตัวกลาง คือ ๘ หมวดวิชา ได้แก่ การดูแลสุขภาพที่จำเป็น  นันทนาและการใช้เวลาว่าง  การพัฒนาจิต  การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  เทคโนโลยีและการสื่อสาร  การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสังคม  การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางวิชาการ

๕ ตัวหลัง คือ ๕ กิจวัตรประจำวัน ได้แก่ เคารพธงชาติ สวดมนต์ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ และตั้งใจเรียน

 

สถานที่ติดต่อ

          สำนักงานโรงเรียนฯ ตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ ๒๖๕/๗ ซอยสาธุประดิษฐ์ ๑๕ ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐ 

          สถานที่เรียนแห่งที่ ๑ ตั้งอยู่ ณ ศาลาสี่มุมบ้าน วัดด่าน ถนนพระราม ๓ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐

          สถานที่เรียนแห่งที่ ๒ ตั้งอยู่ ณ อาคารฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตยานนาวา ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ๒๘ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐

 

การติดต่อประสานงาน สามารถติดต่อประสานงานได้โดยตรงที่

  • สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ในฐานะองค์กรผู้รับผิดชอบดำเนินการ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๙/๒๑๗ หมู่บ้านพิศาล ซอยบางขุนเทียน ๑๔ ถนนบางขุนเทียน แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๕๐ โทร/โทรสาร ๐ ๒๐๒๘ ๘๑๖๒ สายตรงผู้จัดการโรงเรียนฯ นายลิขิต  ลิ้มรสรวย โทร. ๐๘ ๑๘๓๔ ๑๙๔๗
  • โรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา ตั้งอยู่ ณ อาคารฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตยานนาวา การติดต่อประสานงานโรงเรียน สามารถติดต่อประสานงานได้โดยตรงที่ สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อสังคม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ในฐานะองค์กรผู้รับผิดชอบดำเนินการ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๙/๒๑๗ หมู่บ้านพิศาล ซอยบางขุนเทียน ๑๔ ถนนบางขุนเทียน แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๕๐ โทร/โทรสาร ๐ ๒๐๒๘ ๘๑๖๒ สายตรงผู้จัดการโรงเรียน โทร. ๐๘ ๑๘๓๔ ๑๙๔๗

 

 

วัตถุประสงค์ของโรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา

๑. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ 
๒. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตนเอง การดูแล คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ 
๓. เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม 
๔. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม 
๕. เพื่อส่งเสริมศักยภาพ คุณค่า อาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ 
๖. เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบทอดต่อไป

 

วิสัยทัศน์โรงเรียน :

โรงเรียนผู้สูงอายุเขตยานนาวา เป็นโรงเรียนแห่งความสุขของคนทุกวัย

 

พันธกิจโรงเรียน :

จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติ โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคม


รูปประกอบ


เอกสารเเนบ